หน่วยความชื้น (Humidity unit)

หน่วยความชื้น

หน่วยความชื้น (humidity unit) คือหน่วยสำหรับการวัดค่าความชื้น หรือปริมาณไอน้ำในอากาศ การมีความรู้ความเข้าใจในหน่วยของความชื้น (unit of moisture) เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในเชิงอุตสาหกรรม เนื่องจากความชื้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตสินค้าได้ หากโรงงานอุตสาหกรรมไม่สามารถควบคุมปริมาณความชื้นได้อย่างเหมาะสม

บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับหน่วยค่าความชื้นรูปแบบต่างๆ ว่ามีหลักการอย่างไร? ความชื้นมีหน่วยเป็นอะไรได้บ้าง? รวมถึงบอกสูตรการคำนวณและบริบทการนำความชื้นหน่วยต่างๆ มาปรับใช้ได้อย่างถูกต้อง


สารบัญบทความ


หน่วยความชื้นที่เราควรรู้จัก

หน่วยความชื้นมีให้เลือกใช้มากมายตามความเหมาะสมกับการใช้งาน และผลลัพธ์ที่ต้องการวิเคราะห์ ยกตัวอย่างค่าความชื้นหน่วยต่างๆ ที่ควรรู้ ดังนี้

ความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity)

ค่าความชื้นสัมพัทธ์ หรือ relative humidity คือ หน่วยวัดความชื้นพื้นฐานที่นิยมใช้ในการวัดค่าความชื้นในอากาศ บ่งบอกถึงร้อยละปริมาณไอน้ำที่มีอยู่ในอากาศ ต่อปริมาณไอน้ำสูงสุดที่อากาศสามารถรับได้ก่อนที่จะเกิดการอิ่มตัว ณ อุณหภูมินั้นๆ โดยค่าความชื้นสัมพัทธ์ (humidity) มีหน่วยเป็นลักษณะการคำนวณในรูปแบบของเปอร์เซ็นต์ 

ค่า RH หรือ %RH คือหน่วยความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งสามารถคำนวณได้จากสูตร ดังนี้

ค่า RH (%) = (ความดันไอน้ำในอากาศ / ความดันไอน้ำในจุดอิ่มตัว) x 100% 

หรือแทนค่าด้วยสัญลักษณ์ได้ดังนี้

ค่า RH (%) = (e / es) x 100%

กล่าวคือ ถ้าค่าความชื้นสัมพัทธ์เท่ากับ 50% นั่นหมายความว่า ในอุณหภูมิ ณ ตอนนั้น มีปริมาณไอน้ำอยู่ครึ่งหนึ่งของปริมาณไอน้ำทั้งหมดที่อากาศสามารถจุได้โดยไม่เกิดการอิ่มตัว

ความชื้นจำเพาะ (Specific Humidity)

ความชื้นจำเพาะ (specific humidity) คือ หน่วยความชื้นที่วัดอัตราส่วนของปริมาณมวลไอน้ำต่อมวลอากาศชื้น (มวลอากาศแห้ง + มวลไอน้ำ) มักนิยมเทียบอัตราส่วนมวลไอน้ำเป็นกรัม ต่อมวลอากาศเป็นกิโลกรัม (g/kg) โดยการคำนวณหน่วยความชื้นประเภทนี้จะไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยด้านอุณหภูมิเหมือนกับค่าความชื้นสัมพัทธ์

ค่าความชื้นจำเพาะมีสูตรดังนี้

ความชื้นจำเพาะ (SH) = มวลไอน้ำ/มวลอากาศชื้น

หน่วยวัดความชื้นแบบความชื้นจำเพาะ มักนิยมใช้ในการศึกษาด้านอุตุนิยมวิทยา เนื่องจากสามารถนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบปริมาณความชื้นในอุณหภูมิที่ต่างกันได้เป็นอย่างดี

ความชื้นสัมบูรณ์ (Absolute Humidity)

ความชื้นสัมบูรณ์คือหน่วยความชื้นที่วัดค่าน้ำหนักมวลไอน้ำทั้งหมดที่มีอยู่ในมวลอากาศตัวอย่างที่กำหนด มักนิยมใช้หน่วยเป็นกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (g/m³) เป็นหน่วยที่ใช้ในการวิเคราะห์ความหนาแน่นของมวลไอน้ำ ในอุณหภูมิและความดันอากาศต่อ 1 หน่วยปริมาตรอากาศ

ความชื้นสัมบูรณ์มีสูตรการคำนวณ ดังนี้

ความชื้นสัมบูรณ์ (AH) = มวลไอน้ำ / ปริมาตรอากาศ

อย่างไรก็ดี ความชื้นสัมบูรณ์เป็นหน่วยวัดความชื้นในอากาศที่ไม่เหมาะสำหรับการใช้ในเชิงอุตุนิยมวิทยา เนื่องจากมวลอากาศมีการหดและขยายตัวอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกอื่นๆ ในขณะที่มวลไอน้ำยังมีค่าเท่าเดิม จึงเป็นการยากที่จะวิเคราะห์มวลความชื้นในอากาศจากค่าความชื้นสัมบูรณ์เพียงอย่างเดียว

ความดันไอ (Vapor Pressure)

ความดันไอ หรือ vapor pressure คือ หน่วยที่ใช้ส่วนของวัดความดันอากาศที่เกิดจากมวลไอน้ำ มักใช้หน่วยวัดสำหรับความดัน นั่นคือ หน่วยปาสคาล (Pa)

จุดน้ำค้าง (Dew Point)

จุดน้ำค้าง หรือ dew point คือ หน่วยความชื้นประเภทหนึ่ง ที่แสดงถึงอุณหภูมิในจุดที่ไอน้ำอิ่มตัว โดยหากอุณหภูมิลดลงกว่าจุดน้ำค้าง ไอน้ำจะเกิดสถานะควบแน่นทำให้เกิดเป็นน้ำค้าง (การควบแน่น หมายถึง การที่สสารเปลี่ยนสถานะจากก๊าซเป็นของเหลว) นั่นหมายความว่า จุดน้ำค้าง คืออุณหภูมิ ณ ค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่ 100% นั่นเอง

Moisture Content

Moisture Content คือ คำเรียกหน่วยความชื้นที่ค่อนข้างกว้าง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายบริบทตามแต่ละอุตสาหกรรม มักหมายถึงสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักน้ำหรือของเหลวที่อยู่ในสิ่งของหรือวัสดุนั้นๆ

Moisture Content สูตรการคำนวณมีดังนี้

Moisture Content (%) = (มวลน้ำ / มวลรวมทั้งหมดของวัสดุ) x 100

เปรียบเทียบหน่วยความชื้นประเภทต่าง ๆ

ตารางเปรียบเทียบหน่วยความชื้นประเภทต่างๆ

หน่วยความชื้น

หน่วย

ความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity) %
ความชื้นจำเพาะ (Specific Humidity) g/kg
ความชื้นสัมบูรณ์ (Absolute Humidity) g/m³
ความดันไอ (Vapor Pressure) Pa
จุดน้ำค้าง (Dew Point) Celcius หรือ Farenheit
Moisture Content %

สรุปหน่วยความชื้นสำคัญอย่างไร

หน่วยความชื้น ความสำคัญ

ความชื้น หรือ Moisture คือ สภาวะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ ปริมาณความชื้นที่มากเกินไปจะส่งผลเสียต่อคุณภาพของวัสดุ อุปกรณ์ หรือแม้กระทั่งสินค้าหลายประเภท ความรู้ความเข้าใจในหน่วยความชื้นประเภทต่างๆ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการศึกษา วิเคราะห์ และควบคุมค่าความชื้นได้อย่างเหมาะสม

หากคุณกำลังมองหาเครื่องวัดความชื้นคุณภาพดี ปลอดภัย สามารถวัดค่าหน่วยความชื้นได้อย่างแม่นยำ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และเลือกซื้อสินค้าสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมของ PICO ได้ที่:

บริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์ จำกัด (สำนักงานใหญ่)
ที่อยู่ : เลขที่ 7/409 ซอยวิภาวดีรังสิต 36 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 (ประเทศไทย)
เวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ เวลา 08:30-17:30 น. (ยกเว้นเสาร์-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์)
Tel : (+66)2-939-5711, (+66)2-513-2333
Email : marketing@pico.co.th
Facebook : https://www.facebook.com/Petro.Instruments/